ในโลกทวิตเตอร์ผุดแฮชแท็ก #ล้างหนี้กยศ ที่มีการพูดถึงประเด็นนี้เกือบ 7 หมื่นข้อความ จากกรณีมีการแชร์เชิญชวนล่ารายชื่อ 1 หมื่นรายชื่อเพื่อแก้กฎหมาย กยศ. ( กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ) ยกเลิกหนี้คงค้างคนที่เรียนจบครบ 2 ปีแล้วให้เก็บเงินจากรัฐบาล โดยอ้างว่าการเป็นหนี้สินลดแรงจูงใจเริ่มต้นชีวิต เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเกิดความเหลื่อมล้ำ ในวันนี้ มาสิ ได้หยิบยกประสบการณ์ของผู้ที่เคยกู้ยืม กยศ.มาเล่าให้ฟังครับ ไปดูกันเลย …
ล้างหนี้ กยศ. : คนกู้เรียนเผยประสบการณ์ใช้หนี้ 20 ปี กับข้อเสนอเรียนฟรี มีค่าครองชีพ และล้างหนี้ กยศ.
เมื่อดวงพร อุปพงษ์ กำลังจะขึ้นเรียนชั้น ม.ปลาย ตอนอายุราว 15 ปี ลูกสาวกรรมกรก่อสร้างชาว อ.ด่านขุดทด จ.นครราชสีมา ตัดสินใจกู้เรียนเพื่อโอกาสได้เรียนสูงกว่าพ่อแม่
เวลานั้น มารดาบอกกับเธอว่า “ เรียนก็ได้นะ แต่แม่ไม่มีเงินส่ง ” ดวงพร ที่ปัจจุบันอายุ 40 ปี บอกกับบีบีซีไทย
เมื่อเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย ดวงพรเข้าเรียนในกรุงเทพฯ ด้วยทุนจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แต่เมื่อเรียนได้ราว ๆ ปี 2 เธอตั้งท้องจึงต้องออกจากมหาวิทยาลัยตั้งแต่นั้นมา นี่คือเรื่องราวเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว
ดวงพรเล่าให้เราฟังว่า หลังจากมีลูกเธอก็ไม่ได้จ่ายหนี้กยศ. ต่อเนื่อง เพราะมีค่าใช้จ่ายเรื่องการเรียนของลูก จนกระทั่งถูกศาลสั่งบังคับคดีเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีหมายศาลมาที่บ้านถึงการเรียกยึดทรัพย์เพื่อชดใช้หนี้ แต่ดวงพรไม่มีทรัพย์สินอะไรที่ศาลจะยึดได้
ท้ายที่สุดจึงถูกบังคับคดีผ่านการหักบัญชีเงินเดือนบริษัท เดือนละ 8,000 บาท หรือกว่าครึ่งหนึ่งที่เธอหาได้ในแต่ละเดือน เมื่อรวมทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าปรับ ดวงพรต้องชดใช้เงินราว 590,000 บาท ในจำนวนนี้ คิดเป็นดอกเบี้ย 57,000 บาท และค่าปรับที่ผิดนัดชำระรายวันกว่า 231,000 บาท
นี่คือสถานการณ์ของหนึ่งในผู้กู้กยศ. กว่า 1.1 ล้านราย ที่ถูกศาลพิพากษาจนเป็นที่สุดและบังคับคดีจากการไม่ชำระหนี้ตามระยะเวลาสัญญา 15 ปี
ข้อเสนอล้างหนี้กยศ. จุดประเด็นการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ หลังมีการแชร์ข้อความเชิญชวนลงชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อหนุนร่างกฎหมาย ฝ่ายไม่เห็นด้วยมองว่า การยกเลิกหนี้กยศ. ไม่ยุติธรรมกับผู้กู้ยืมที่จ่ายหนี้ตามจำนวน และการไม่ชำระหนี้คืนทำให้นักศึกษารุ่นต่อไปกู้เรียนไม่ได้
เมื่อข้อถกเถียงถูกดึงกลับมาสู่เรื่องความรับผิดชอบทางการเงินของผู้กู้ จำนวนผู้ถูกบังคับคดีกว่า 1.1 ล้านรายนั้นหมายถึงอะไร ขณะที่การปรับโครงสร้างหนี้ การผ่อนปรนลดดอกเบี้ย ชะลอการดำเนินคดีมีมาอย่างต่อเนื่อง แล้วปลายทางของหนี้เพื่อการศึกษาของคนไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป
ชีวิตที่โคราชเมื่อกู้กยศ.
ดวงพร คือ ตัวอย่างของคนที่กู้เรียน และตกอยู่ในวังวนของหนี้ทางการศึกษามากกว่าสองทศวรรษ
เธอย้อนเล่าถึงตอนเรียน ม.ปลายที่โคราชว่า ใครที่เป็นเด็กกยศ. จะผูกข้าวกลางวันที่โรงเรียน ในงบประมาณที่โรงเรียนมีให้ นั่นคือ กู้เรียนมาเพื่อเป็นเงินจ่ายค่าเทอม ค่าข้าวกลางวัน และค่าครองชีพที่มีให้นักเรียนเดือนละ 700 บาท
เมื่อ จบ ม.ปลาย ดวงพร เข้ามาเรียนต่อระดับที่มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต และกู้เรียนกยศ. ปีละ 100,000 บาท มหาวิทยาลัยหักเงินกู้ส่วนนี้ จ่ายเป็นค่าครองชีพเดือนละ 4,000 บาท หักค่าเทอม ค่าใช้จ่ายกิจกรรมนักศึกษา และมีหอพักให้อยู่
“ เราออกมา ( จากมหาวิทยาลัย ) เสร็จปุ๊ป เรามีลูก พอมีลูก ก็ต้องหาเงินหาทองเลี้ยงลูก เริ่มทำงานพอจะเป็นรูปเป็นร่าง ลูกเราเรียน เราก็ส่งลูกเรียนอีก ” ดวงพร กล่าว
หลังจากเรื่องการล้างหนี้ กยศ. ถูกโต้เถียงในสังคมออนไลน์ ดวงพรเข้าใจดีว่าเป็นหนี้้ก็ต้องใช้ เพียงแต่อยากให้แก้ไขเรื่องเบี้ยปรับรายวัน เพราะยอดหนี้ที่ต้องชำระซึ่งเธอกำลังเผชิญนั้น สูงเท่า ๆ กับเงินต้นที่กู้เรียน
“ ชีวิตที่พี่เป็นอยู่ ยังพอกินไปได้แต่ละเดือน แต่ถ้าแฟนพี่เกษียณไป อย่าว่าแต่เบี้ยปรับรายวัน เงินต้นพี่ก็ยังตามไม่ได้ ” ดวงพร กล่าว
เป็นค่าโอกาส
ย้อนไปเมื่อปี 2541 ในกรุงเทพฯ, “ วาสนา ” ( นามสมมติ ) ลูกข้าราชการและแม่บ้าน กู้เรียนกยศ. เพื่อเข้าเรียนคณะสัตวแพทย์ ในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง เพราะแผนที่ทางบ้านจะขายบ้านหลังเก่าเพื่อมาจ่ายค่าเรียนล้มเหลวในช่วงเศรษฐกิจกำลังฟองสบู่แตก
” ปีนั้นเกือบจะไม่ได้เรียนหนังสือ…ในความรู้สึกของเรา จ่ายต้น 6 แสน ดอกเบี้ยเงินปรับแสนกว่า มันเป็นค่าโอกาส ” วาสนาที่ตอนนี้อายุ 45 ปีแล้ว บอกกับบีบีซีไทย
การเรียนสัตวแพทย์ใช้เวลา 6 ปี หนี้กยศ. จึงมีเงินต้นสูงถึง 6 แสนบาท วาสนาบอกว่า กยศ.เว้นช่วงให้ 2 ปีหลังเรียนจบ โดยปีแรก ๆ มียอดหนี้ต้องชำระ 10,000 กว่าบาท และสูงขึ้นเป็นขั้นบันไดในปีต่อ ๆ ไป
ในช่วงปีท้าย ๆ เธอพยายามจ่ายทุกเดือน ซึ่งในระหว่างนั้นวาสนาก็มีภาระค่าใช้จ่ายทางบ้านหลายทาง ทั้งการใช้หนี้ให้พ่อแม่ ส่งน้องเรียน
สองปีก่อนอายุสัญญาหนี้สิ้นสุด เธอยังเหลือยอดหนี้อีกกว่า 2 แสนบาท รวมดอกเบี้ย และค่าปรับที่เพิ่มพูนขึ้น วาสนาตัดสินใจนำเงินเก็บก้อนหนึ่ง และกู้เงินจากธนาคารออมสิน มาโปะหนี้ กยศ. เมื่อปี 2561 และผ่อนกับธนาคารแทน
ส่วนตัวนั้น วาสนา ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดล้างหนี้ กยศ. แต่หากรัฐบาลไหนทำเรื่องเรียนฟรีได้ก็เห็นด้วย แต่เธอไม่เห็นว่าจะเป็นไปได้ เพราะคนไทยไม่ได้จ่ายภาษีมากขนาดนั้น
“ มันแปลก ๆ พี่อาจจะมองในแง่ของคนที่พยายามใช้หนี้มั้ง ” วาสนา กล่าว พร้อมบอกว่า ต้องคิดกลับกันว่า เด็กรุ่นหลัง ๆ ในปีถัดไปที่จะได้ทุนเรียนได้ยากขึ้น
“ ตอนเรียนหนังสือ เขาจะบอกว่า เมื่อคุณเรียนจบ หนี้ที่ต้องรีบชำระสิ่งแรกคือ กยศ. ไม่ใช่ว่าคุณไปสร้างเนื้อสร้างตัว ส่งรถ ส่งบ้านก่อน… ”
จากกรณีของวาสนา แม้จะรับผิดชอบหนี้ กยศ. จนหมดสิ้น แต่ก็ต้องเสาะหาหนทางกู้เงินจากแหล่งอื่นเพื่อมาโปะให้ทันเวลา เพื่อที่จะไม่ให้ถูกดำเนินคดี
เรียนฟรี พร้อมค่าครองชีพ ล้างหนี้ กยศ.
กระแสความคิดที่ไม่เห็นด้วยกับการล้างหนี้ กยศ. ไม่ใช่สิ่งที่เกินกว่าความคาดหมายของ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการ
ทว่าสิ่งที่ทำให้เขาแปลกใจคือ แนวโน้มคนที่ต่อต้านมองว่าแคมเปญนี้ “เป็นสิ่งที่เลวร้าย กำลังสปอยล์ประชาชน เป็นการทำให้คนขาดวินัย” เพราะชุดความคิดเช่นนี้เป็นความคิดในช่วงหลังปี 2540
ในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ อ.ษัษฐรัมย์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ข้อเสนอนี้เป็นชุดข้อเสนอที่รวมเอาการเรียนฟรี มีค่าครองชีพ ร่วมกับการล้างหนี้ กยศ. ไม่ใช่เพียงแต่ ล้างหนี้ กยศ. อย่างเดียว
“หลังจากเรียนฟรีเกิดขึ้นได้จริง หนี้การศึกษาที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ต้องมีการทบทวน และยกเลิกไปพร้อมกัน”
จะเอาเงินจากไหน
คำถามสำคัญ “จะเอาเงินจากไหน” ษัษฐรัมย์ ตอบอย่างไม่ลังเลว่า “ประเทศเรามีเงินงบประมาณ และชนชั้นนำก็ทราบว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศยากจน”
นักวิชาการจาก มธ. และอดีตทีมนโยบายจากพรรคอนาคตใหม่ ( อนค. ) ชวนให้ดูร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในหมวดยุทธศาสตร์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ใช้งบฯ 7 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่เกี่ยวข้องเรื่องสวัสดิการพื้นฐานอย่างเรื่องบัตรทองหรือเบี้ยผู้สูงอายุ แต่กระจายไปอยู่ตามกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ
ทว่านโยบายจัดการความเหลื่อมล้ำออกมาในรูปแบบอย่างการอบรมชาวบ้านมาฝึกทำถุงผ้าเพื่อให้มีรายได้ วิธีแบบนี้ แก้ความเหลื่อมล้ำไม่ได้จริง งบส่วนนี้ที่กระจัดกระจายอยู่ จึงเป็นก้อนที่นำมาใช้จัดการศึกษาฟรีในมหาวิทยาลัยได้
” ถ้าเราต้องการให้ มหาวิทยาลัยเรียนฟรี พร้อมกับค่าครองชีพ น่าจะใช้งบประมาณ 1.5-2 แสนล้านต่อปี มันอาจจะฟังดูเยอะ แต่ก็คิดเป็นประมาณ 8% ของงบรายจ่ายประจำปี ซึ่งไม่ได้เยอะมาก ”
ส่วนการล้างหนี้ กยศ. ษัษฐรัมย์มองว่า สามารถมีบทเฉพาะกาลเพื่อจัดการส่วนนี้ เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วกยศ. ก็อุ้มหนี้เสีย ( NPL ) ไว้กว่า 60% กว่าอยู่แล้ว
” หนี้ กยศ. ทั้งระบบตอนนี้ 3 แสนล้าน ผมลองเทียบไปให้ ถ้าเรือดำน้ำลำหนึ่ง 30,000 ล้าน เราใช้เวลา 10 ปี ที่ไปซื้อเรือดำน้ำเพิ่มปีละหนึ่งลำ กับได้ 3 แสนล้าน สำหรับคน 5 ล้านคนนะ ”
ชวนสนทนากับคนที่ไม่เห็นด้วย
นักวิชาการจากศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเสนอนโยบายสาธารณะอะไรออกมาสักเรื่องหนึ่งจะมีคนที่ทั้งได้ประโยชน์มาก ได้ประโยชน์โดยตรง ได้ประโยชน์โดยอ้อม คนที่ไม่ได้ประโยชน์โดยตรงเลย และกลุ่มคนที่มีค่าเสียโอกาส ได้แก่ กลุ่มที่ชำระหนี้ไปแล้ว
” สมมติว่าวันนี้เกิดเรียนฟรีขึ้นมา คุณยังมีหนี้เหลืออยู่ 250,000 เมื่อมีการเลิกทาสไปแล้ว หนี้สินที่เกิดจากการซื้อขายทาสที่มันเคยมีมา ก็ควรจะยกเลิกด้วย ”
อย่างไรก็ตาม ษัษฐรัมย์ บอกว่า นี่คือแนวคิดเบื้องต้นเท่านั้น สังคมต้องเถียงกันต่อว่า จะเยียวยายังไงเพิ่มเติมสำหรับคนที่เคยจ่ายไปแล้ว แต่กระบวนการรูปธรรมที่ดีที่สุด คือ การทำรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าควบคู่กันไป
ทำไมคนส่วนมากมีแนวโน้มจะไม่เห็นด้วย
“ ประเทศเราไม่เคยมี Mindset ( ชุดความคิด ) ว่าการศึกษาเป็นสิทธิ เราคิดว่าการศึกษาคือการลงทุน และเป็นการลงทุนส่วนตัวด้วย ไม่ได้เป็นการที่รัฐลงทุนให้ ” คือ คำตอบของ ษัษฐรัมย์ เมื่อเราถามว่าเหตุใดผู้คนจึงคัดค้านเรื่องนี้
” อย่างพ่อแม่ลงทุนให้เรา เราลงทุนให้ตัวเอง พอเราคิดแบบนี้ เราก็คิดว่าทุกอย่างกลายเป็นเรื่องส่วนตัวไปหมดเลย กลายเป็นเรื่องส่วนตัวที่เราคิดว่าเป็นสิทธิของฉัน ฉันจ่ายไป ”
ษัษฐรัมย์บอกด้วยว่า ในทางกลับกัน คนที่ได้ประโยชน์โดยตรงกับเรื่องนี้ อาจไม่ได้รู้สึกมั่นใจหรือเปิดตัวที่จะถกเถียง แต่สิ่งที่คนทำแคมเปญเห็น คือ มีคนลงรายชื่อเพิ่มขึ้นมากขึ้นก้าวกระโดดในช่วงสุดสัปดาห์ผ่าน
” ในประเทศที่ไม่ได้มองการศึกษาเป็นสิทธิ ถ้าพูดเรื่องนี้ ( ล้างหนี้ ) ก็จะถูกมองว่าเป็นคนเลว เป็นคนไม่รับผิดชอบ เพราะนั้น คนก็อาจจะเงียบ ๆ ภายใต้เงื่อนไขแบบนี้ ”
ประเทศไหนเรียนมหาวิทยาลัยฟรี
ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า แม้แต่ประเทศที่บอกว่าการศึกษา “ห่วย” อย่างสหรัฐฯ คนเป็นหนี้จากการศึกษามากมายก็ยังมีแผนการทบทวนและล้างหนี้การกู้ยืมเพื่อการศึกษาในแต่ละมลรัฐ และระหว่างนี้ก็มีการพักหนี้ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขยายเวลาผ่อนผัน
สำหรับประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ และให้การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย หรือมีแต่ถูกมาก จ่ายแค่ค่าธรรมเนียมสหภาพนักศึกษา ( Union fee ) ปีละประมาณ 5,000 บาท ได้แก่ หลายประเทศในยุโรปอย่าง เยอรมนี สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก
ประเทศเหล่านี้ค่าเรียนฟรี ตั้งแต่ อนุบาล ถึงปริญญาเอก อย่างประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย คนเรียนก็มีเงินเดือนด้วย เดือนหนึ่ง 10,500 – 18,000 บาท บางประเทศอย่างเดนมาร์ก อาจจะ 12,000 บาท
” มันไม่ได้เป็นเงินที่เยอะ เพราะค่าจ้างขั้นต่ำเขาประมาณ 80,000-100,000 บาท ต่อเดือน ”
จาก 30 บาททุกโรคเมื่อ 20 ปีที่แล้ว สู่เรียนมหาวิทยาลัยฟรี ล้างหนี้ กยศ.
นักวิชาการผู้ขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการ เล่าถึงบทสัมภาษณ์ของผู้ผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วงก่อนปี 2544 ว่า ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตของพรรคไทยรักไทย ( ทรท. ) ขณะนั้น ปฏิเสธที่จะหาเสียงด้วยนโยบายนี้
“ เขากลัวว่า เกิดชนะขึ้นมาแล้วทำไม่ได้ แล้ว ส.ส. เขต โดนด่า เรื่องพักหนี้ กองทุนหมู่บ้าน เขาเห็นว่าเป็นไปได้ แต่ให้เขาไปพูดเรื่องนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค เป็นไปไม่ได้หรอก มันจะทำให้เขาเสียความนิยม ”
แม้การคัดค้านต่อข้อเสนอนี้กระแสร้อนแรง แต่ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กลับมองว่า นี่คือการยกระดับการพูดคุยเรื่องนี้ให้สูงขึ้นไปอีก โดยเป้าหมายคือการนำไปสู่ฉันทามติของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งปีหน้า
ษัษฐรัมย์ชี้ว่า เมื่อค่านิยมของสังคมเชื่อว่าการเรียนระดับมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่สำคัญ แม้อาจจะไม่เท่าในอดีตแล้ว แต่ยังสำคัญในแง่การเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม จึงเป็นที่มาของการเกิดขึ้นกองทุนให้กู้เพื่อยืมเงินไปเรียน แต่นั่นอาจจะเป็นการเริ่มก้าวแรกที่ผิดตั้งแต่ต้น
“ เราแก้ไขเรื่องเหล่านี้โดยการให้คนไปกู้ แล้วจบมาก็มีหนี้ สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่ามันผิดเพี้ยนตั้งแต่ตรงนี้ ” นักวิชาการ มธ. กล่าว
“ ต่อให้เราพยายาม รีไวส์ ( ทบทวน ) ให้มันดียังไง บางคนบอกว่าให้แค่ปรับเรื่องเบี้ยปรับ ชั่วโมงจิตอาสา เงื่อนไขอะไรต่าง ๆ แค่นี้ก็โอเคแล้ว แต่เชื่อไหมว่า ถ้าเรานำเสนอแค่เรื่องเหล่านี้ มันไม่เกิดคอนเวอร์เซชั่น ( บทสนทนา ) อะไรเลยให้กับสังคม”
…………………………………………………………………
ท่ามกลางเศรษฐกิจฝืดเคืองทั่วโลกเช่นนี้ ในบางครั้งบางวัน หากคุณเงินขาดมือ ขาดสภาพคล่อง มาสิ ก็ขอแนะนำ https://masii.co.th/thai/loan เว็บไซต์ที่เชี่ยวชาญด้านการเงินและเทคโนโลยี ที่ให้บริการข้อมูลในด้านของการ เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และ ประกันภัย ต่างๆ ให้กับคนไทย โดยมีผู้ใช้บริการมากกว่า 10 ล้านคนจากทั่วประเทศ ซึ่งเว็บไซต์ของเรามีความเชื่อถือได้ และช่วยให้คุณและครอบครัวตัดสินใจทางการเงินได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสร้างทางเลือกสู่อิสรภาพทางด้านการเงินให้กับคุณ
สนใจสมัคร สินเชื่อส่วนบุคคล
เปรียบเทียบสินเชื่อส่วนบุคคล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
หากใครมีข้อสงสัยเพิ่มเติม โทรมาสอบถามรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ 02 710 3100 หรือ แอดไลน์มาเป็นเพื่อนกับเราที่ @masii (มี @ ด้วยนะครับ) เพื่อติดตามข่าวสารและบทความดีๆ ที่ มาสิบล็อก เกี่ยวกับ ประกันรถยนต์ ประกันมอเตอร์ไซค์ ประกันภัยโดรน ประกันเดินทาง ประกันสุขภาพ รวมถึง สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสด และ บัตรเครดิต จากสถาบันการเงินชั้นนำ
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม
- มิจฉาชีพโผล่ไว อินเทรนด์ ปลอมเป็น ” มิลลิ ” ยืมเงิน พร้อมส่ง ข้าวเหนียวมะม่วง ให้ เตือนภัย! สมัครสินเชื่อส่วนบุคคล เชื่อถือได้ที่นี่
- รู้ทันมิจฉาชีพ หากไม่อยากถูกหลอก.. ให้โอนดอกเบี้ยก่อนได้ เงินกู้
- เงินหายจากบัญชีธนาคาร ป้องกันอย่างไรให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ
- กรมขนส่งฯ เตือน ระวังมิจฉาชีพหลอกทำใบขับขี่ช่วงโควิด-19 ระบาด
_____________________________________________
Please become Masii Fan
Facebook: https://lnkd.in/gFFh8mh
Website: www.masii.co.th
Blog: https://masii.co.th/blog
Line: @masii
Tel: 02 710 3100
Youtube: https://lnkd.in/gbQf9eh
Instagram: https://lnkd.in/ga4j5ri
Twitter: twitter.com/MasiiGroup
#บัตรเครดิต #สมัครบัตรเครดิตออนไลน์
#ทำบัตรเครดิต #บัตรเครดิตใบแรก
#สินเชื่อส่วนบุคคล #บัตรกดเงินสด #เงินด่วนทันใจ
#สินเชื่อส่วนบุคคลออนไลน์ #กู้เงิน #เงินสด #เงินก้อน
#เงินด่วน #เงินกู้ทันใจ#masii #มาสิ #ครบง่ายสะดวก
#เพื่อความสุขในชีวิตที่ดีกว่า#ครบง่ายสะดวกเพื่อความสุขในชีวิตที่ดีกว่า
#SimplifiedComparison