สำหรับผู้ใช้รถทั่วไป แน่นอนว่าคงมีการตรวจเช็กสภาพรถยนต์เป็นประจำอยู่แล้วใช่ไหมล่ะคะ เพื่อเป็นการเช็กว่ารถยนต์ของเราว่ายังสามารถใช้งานได้ตามปกติ ไม่มีส่วนใดชำรุดสึกหรอ นอกจากนี้ยังมีการตรวจเช็กสภาพรถยนต์ประจำปีที่ สถานตรวจสภาพรถเอกชน หรือ ตรอ. สำหรับรถยนต์ที่ต้องการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี โดยอายุรถที่ต้องมาตรวจสภาพจะต้องเป็นรถยนต์ที่มีอายุ 7 ปีขึ้นไป และรถจักรยานยนต์อายุ 5 ปีขึ้นไป แต่เพื่อนๆ รู้ไหมว่าการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี หรือตรวจ ตรอ.นั้น ต้องตรวจอะไรบ้าง และมีค่าใช้จ่ายเท่าไร เราตาม masii ไปดูกันเลย
ตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี (ตรอ.) ตรวจอะไรบ้าง ราคาเท่าไร
สำหรับ สถานตรวจสภาพรถเอกชน หรือ ตรอ. เป็นสถานตรวจสภาพรถเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก ให้ใช้เป็นสถานที่ตรวจสภาพรถ ว่ารถดังยนต์ดังกล่าวมีความพร้อมใช้งานบนท้องถนนตามข้อกำหนดของกรมขนส่งฯหรือไม่ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกแก่เจ้าของรถ ไม่ต้องเข้ามาที่กรมขนส่งฯ โดยตรง
ต้องตรวจสภาพรถกับ ตรอ. เมื่อไร
เนื่องจากใน พระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ได้มีข้อกำหนดเอาไว้ว่า รถที่จะนำมาใช้ในการขนส่งจะต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง มีลักษณะ ขนาด และเครื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถ ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับรถ ผู้โดยสารไปกับรถคันนั้น ผู้ขับขี่รถคันอื่นๆ คนเดินถนน รวมทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดอายุการใช้งาน โดยรถที่อยู่ในข่ายต้องตรวจสภาพรถก่อนเสียภาษีประจำปีมีดังนี้
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
- รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
- รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุใช้งานครบ 5 ปี ขึ้นไป
การนับอายุรถยนต์นั้น ให้นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก ถึงวันสิ้นสุดอายุภาษีประจำปี (วันครบกำหนดเสียภาษีประจำปี) เช่น รถยนต์ส่วนบุคคลจดทะเบียนปี 2560 จะต้องมีการตรวจสภาพในปี 2567 หรือการต่อภาษีเพื่อให้ได้ป้ายหมดอายุปี 2568 นั่นเอง
รถยนต์ที่ไม่สามารถตรวจสภาพรถกับ ตรอ. ได้
รถยนต์บางประเภทที่มีข้อจำกัด ไม่สามารถให้ทาง สถานตรวจสภาพรถเอกชน หรือ ตรอ. ตรวจสอบให้ได้ แต่จะต้องไปตรวจสภาพรถที่หน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น ซึ่งมีรถดังต่อไปนี้
- รถที่ดัดแปลงสภาพผิดไปจากที่ได้จดทะเบียนไว้
- รถที่เปลี่ยนสีหรือเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไป จากรายการที่จดทะเบียนไว้ในสมุดคู่มือทะเบียนรถ (เช่น เปลี่ยนเครื่องยนต์ เปลี่ยนลักษณะรถ เปลี่ยน ชนิดน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น)
- รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลขตัวรถหรือเลขเครื่องยนต์ (เช่น ไม่ปรากฏตัวเลข ตัวเลขชำรุด หรือมีร่องรอยการแก้ไข ขูด ลบ หรือลบเลือน จนไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ เป็นต้น)
- รถที่เจ้าของได้แจ้งการไม่ใช้ชั่วคราว หรือแจ้งการไม่ใช้รถตลอดไปไว้
- รถเก่าที่มีเลขทะเบียนเป็นเลขทะเบียนรุ่นเก่า ( เช่น กท-00001, กทจ-0001 เป็นต้น) ซึ่งรถดังกล่าวต้องเปลี่ยนทะเบียนรถใหม่เมื่อมีการนำมาเสียภาษีประจำปี
- รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับการถูกโจรกรรมแล้วได้คืน
- รถที่ได้สิ้นอายุภาษีประจำปี (ขาดต่อทะเบียน) เกิน 1 ปี
- รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม จะตรวจสภาพที่ ตรอ. หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกก็ได้
- รถของส่วนราชการ บุคคลในคณะผู้แทนทางการทูต คณะผู้แทนทางกงสุล องค์การระหว่างประเทศ ฯลฯ จะตรวจสภาพที่ ตรอ. หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก ก็ได้
ตรวจสภาพรถ ตรอ. ราคาเท่าไร
สำหรับค่าตรวจสภาพรถจาก ตรอ. จะใช้ราคาเดียวกันทั่วประเทศตามข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบก ดังนี้
- รถจักรยานยนต์ คันละ 60 บาท
- รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 150 บาท
- รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 250 บาท
ทั้งนี้ หากรถยนต์ที่ตรวจสภาพไม่ผ่าน สามารถนำกลับไปแก้ไขซ่อมแซมให้ได้สภาพตามข้อกำหนด และนำกลับมาตรวจสภาพที่เดิมได้โดยจะเสียค่าใช้จ่ายเพียงครึ่งเดียวของอัตราที่กำหนดเอาไว้ แต่จะต้องนำกลับมาตรวจภายใน 15 วัน ถ้าเกินกว่านี้ต้องชำระเต็มจำนวน
ตรวจสภาพรถกับ ตรอ. ตรวจอะไรบ้าง
สำหรับการตรวจสภาพรถกับ ตรอ. นั้น จะมีรายละเอียดการตรวจหลายอย่าง ดังนี้
1. ตรวจสอบข้อมูลของรถ ได้แก่ แผ่นป้ายทะเบียนรถ, ลักษณะรถ, แบบรถ, สีรถ, หมายเลขตัวรถ, ชนิดเครื่องยนต์, เลขเครื่องยนต์ และชนิดเชื้อเพลิงถูกต้องตามที่ระบุไว้ในเอกสารสมุดประจำรถหรือไม่
2. การตรวจภายในและภายนอกรถยนต์ ได้แก่ ตรวจสภาพตัวถัง, สี, อุปกรณ์เกี่ยวกับความปลอดภัย, ที่นั่ง, เข็มขัดนิรภัย, ระบบไฟส่องสว่าง, ไฟสัญญาณ, อุปกรณ์ไฟฟ้า, พวงมาลัย, ที่ปัดน้ำฝน, กงล้อและยางอยู่ในสภาพใช้งานได้ปกติหรือไม่
3. การตรวจพินิจใต้ท้อง จะตรวจสอบระบบบังคับเลี้ยว, ระบบรองรับน้ำหนัก, ระบบเบรก, เครื่องยนต์, ระบบส่งกำลัง, สภาพตัวถังโครงคัสซี, ระบบไอเสีย, ระบบเชื้อเพลิง, กงล้อและอย่างอยู่ในสภาพใช้งานได้ปกติหรือไม่
4. การทดสอบประสิทธิภาพการเบรก ว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ และทำการทดสอบประสิทธิภาพบนลูกกลิ้ง โดยมีเกณฑ์ดังนี้
– แรงห้ามล้อขณะจอดทุกล้อรวมกัน ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของนำหนักตัวรถ
– แรงห้ามล้อหลัดทุกล้อรวมกัน ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของนำหนักตัวรถ
– ผลต่างของแรงห้ามล้อหลักด้านขวาและด้านซ้ายต้องไม่เกินร้อยละ 25 ของแรงห้ามล้อสูงสุดในเพลานั้น
5. การตรวจสอบวัดโคมไฟหน้า จะตรวจสอบทิศทางเบี่ยงเบนของลำแสง และตรวจวัดค่าความเข้มของแสง โดยมีเกณฑ์ดังนี้
– โคมไฟแสงพุ่งต่ำ มุมกดจากแนวราบระหว่างร้อยละ 0.5 (0.29 องศา) ถึงร้อยละ 4.0 (2.29 องศา) ความเข้มส่องสว่างดวงไฟแต่ละดวงไม่น้อยกว่า 6,400 แคนเดลลา (cd) และทิศทางไม่เบี่ยงเบนไปด้านขวา
– โคมไฟแสงพุ่งไกล ความเข้มส่องสว่างดวงไฟแต่ละดวงไม่น้อยกว่า 12,000 แคนเดลลา (cd) และทุกดวงรวมกันต้องไม่เกินกว่า 430,000 แคนเดลลา (cd) และทิศทางไม่เบี่ยงเบนไปด้านขวา และไม่สูงเกินกว่าเส้นแนวราบ
6. การตรวจวัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และก๊าซไฮโดรคาร์บอน (HC) ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่งลักษณะเก๋งกำหนดเอาไว้ว่า
– รถที่จดทะเบียนก่อน 1 พ.ย. 2536 ค่าก๊าซ CO ไม่เกินร้อยละ 4.5 และค่าก๊าซ HC ไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน
– รถที่จดทะเบียน 1 พ.ย. 2536 – 31 ธ.ค. 2549 ค่าก๊าซ CO ไม่เกินร้อยละ 1.5 และค่าก๊าซ HC ไม่เกิน 200 ส่วนในล้านส่วน
7. รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ต้องตรวจควันดำ โดยระบบกระดาษกรองต้องไม่เกินร้อยละ 50 และระบบวัดความทึบแสงต้องไม่เกินร้อยละ 45
8. การตรวจวัดเสียง ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล
เมื่อทำการตรวจสภาพรถยนต์เรียบร้อย และผ่านเกณฑ์ตรวจสอบ ทางตรอ. จะทำการออกใบรับรองการตรวจสภาพมาให้ เพื่อเป็นการรับรองว่ารถยนต์คันนี้อยู่สภาพพร้อมใช้งาน โดยใบตรวจสภาพจะมีอายุ การใช้งาน 3 เดือน และสามารถนำใบตรวจสภาพนี้ไปทำการต่อภาษีประจำปีได้ที่กรมการขนส่งทางบก
สนใจซื้อประกันภัยรถยนต์
เมื่อได้ทราบกันไปแล้วว่า การตรวจสภาพรถยนต์ ในสถานตรวจสภาพรถเอกชน หรือ ตรอ. นั้นมีขั้นตอนอย่างไร และ ตรวจอะไรบ้างนั้น หากใครที่มีรถยนต์อายุเกิน 7 ปี และต้องการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี ก็สามารถเข้ารับการตรวจสภาพรถยนต์ได้ที่ ตรอ. ใกล้บ้าน ทั้งนี้ควรหมั่นดูแลรักษารถยนต์ให้มีสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ และะหากที่ต้องการความอุ่นใจ สามารถซื้อประกันภัยรถยนต์เพิ่มเติมได้ เพียง คลิกที่นี่ หรือโทร. 02 710 3100 เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันรถยนต์ การต่อประกันรถยนต์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยอื่นๆ จากบริษัทประกันชั้นนำ