เป็นประจำที่ช่วงต้น ๆ ปี ของทุกปี ถือเป็นช่วงที่ประชาชนคนไทยต้องมีหน้าที่ยื่นและเสียภาษี ซึ่งสำหรับในปี 2560 นี้ ได้มีการปรับอัตราภาษีใหม่โดยจะยื่นแบบภาษีในปี 2561ซึ่งจากการที่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในที่ประชุมให้มีการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอ โดยมีการเพิ่มการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนในหลายรายการ เป็นผลให้ประชาชนที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นเสียภาษีน้อยลงในปี 2560 ดังต่อไปนี้
อัตราภาษีใหม่ปี 2560 หน้าตาเป็นอย่างไร ใครอยากรู้มาดูกัน
ปรับปรุงในส่วนของค่าใช้จ่าย
เพิ่มการหักค่าใช้จ่ายของเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า ฯลฯ อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ร้อยละ 50 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ สิทธิบัตร สิทธิอื่น ๆ และค่าลิขสิทธิ์ ร้อยละ 50 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท (หรือหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้)
ปรับปรุงในส่วนของค่าลดหย่อน
ค่าลดหย่อน สำหรับผู้มีเงินได้ 60,000 บาท, ค่าลดหย่อน สำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้ 60,000 บาท (กรณีคู่สมรสต่างมีเงินได้ ให้หักรวมกันไม่เกิน 120,000 บาท), ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท ต่อคน ไม่จำกัดจำนวน, ค่าลดหย่อน การศึกษาบุตร ยกเลิก, ค่าลดหย่อน กองมรดก 60,000 บาท
อัตราภาษีใหม่ปี 2560
รัฐบาลได้ปรับ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ โดยจากเดิมมีรายได้สุทธิ 4,000,001 บาทขึ้นไปต้องเสียภาษี 35% ปรับเป็นต้องมีรายได้สุทธิ 5,000,001 บาทขึ้นไป ดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีเงินได้สุทธิ 0 – 150,000 ได้รับการยกเว้น
- ผู้ที่มีเงินได้สุทธิ 150,001 – 300,000 อัตราภาษี 5%
- ผู้ที่มีเงินได้สุทธิ 300,001 – 500,000 อัตราภาษี10%
- ผู้ที่มีเงินได้สุทธิ 500,001 – 750,000 อัตราภาษี15%
- ผู้ที่มีเงินได้สุทธิ 750,001 – 1,000,000 อัตราภาษี20%
- ผู้ที่มีเงินได้สุทธิ 1,000,001 – 2,000,000 อัตราภาษี25%
- ผู้ที่มีเงินได้สุทธิ 2,000,001 – 5,000,000 อัตราภาษี30%
- ผู้ที่มีเงินได้สุทธิ 5,000,001 เป็นต้นไป อัตราภาษี35%
ปรับปรุงเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี
1. กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว
กรณีผู้มีเงินได้เป็นโสด ยื่นแบบเมื่อมีเงินได้เกิน 100,000 บาท, กรณีผู้มีเงินได้มีคู่สมรส ยื่นแบบเมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 200,000 บาท
2. กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน
กรณีผู้มีเงินได้เป็นโสด ยื่นแบบเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
3. กรณีกองมรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่ง ยื่นแบบเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
4. กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ยื่นแบบเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท