NAV คืออะไร? นักลงทุนมือใหม่อาจยังงง แต่นักลงทุนมือเก่าน่าจะพอรู้จักกองทุนรวม “NAV” หรือ Net Asset Value เป็นอย่างดี เพราะ “NAV” เป็นตัวเลขที่บอกถึงมูลค่าที่แท้จริงของกองทุนรวมหรือทรัพย์สินสุทธิ (มูลค่าของกองทุนรวม+ผลตอบแทน หรือ มูลค่าเงินลงทุน-ผลการขาดทุน) ที่ได้จากการลงทุน โดยจะบอกผู้ถือหน่วยลงทุนว่า หากเราจะซื้อหรือขายคืนกองทุนรวม จะได้ที่ราคาประมาณเท่าไหร่
nav คืออะไร?
ด้วยเหตุนี้ NAV จึงเป็นตัวเลขที่สะท้อนผลการดำเนินงานของกองทุนรวมได้ดีที่สุด การเปลี่ยนแปลงของ NAV จะทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบว่า แต่ละกองทุนรวมมีการบริหารทำให้ได้กำไรหรือขาดทุนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งปกติ NAV จะมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน และการที่ NAV จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ก็ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของกองทุนรวมนั้นๆ ซึ่งก็ต้องลองศึกษาและทำความเข้าใจกันไป
ทั้งนี้ บลจ. จะเป็นผู้คิดคำนวณราคา NAV ขึ้นมา และเปิดเผยให้ผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไปได้รับทราบอย่างเป็นประจำและสม่ำเสมอ ซึ่งในกรณีของ “กองทุนปิด” จะทำการประกาศให้ผู้ลงทุนทราบทุกวัน
ทำการสุดท้ายของสัปดาห์ ส่วนกรณีของ “กองทุนเปิด” จะประกาศให้ทราบทุกวันทำการที่มี
การซื้อขายหน่วยลงทุน โดยนักลงทุนสามารถดู NAV ได้จากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวัน โทรสอบถามจาก บลจ.ที่บริหารกองทุนรวมนั้น หรือดูจากเว็บไซต์ของแต่ละ บลจ. ก็ได้ ซึ่งในกรณีที่เราต้องการซื้อ ให้เราดูที่ช่องของราคาขาย แต่หากต้องการขาย ให้เราดูที่ช่องราคารับซื้อคืนในวันนั้น โดยปกติราคารับซื้อคืนมักจะต่ำกว่าราคาขาย
สำหรับวิธีการคำนวณราคามูลค่าต่อหน่วยที่บริษัทจัดการแสดงเป็นราคาขายหรือราคารับซื้อคืน จะมีสูตรการคำนวณ คือ
– มูลค่าต่อหน่วย (NAV ต่อหน่วย) = มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ/จำนวนหน่วยลงทุน
สิ่งที่ควรระวังสำหรับนักลงทุนที่เริ่มลงทุนในกองทุนรวมใหม่ๆ หลายท่านอาจเข้าใจผิดได้ว่า การซื้อกองทุนที่ NAVต่ำๆ จะมีโอกาสทำกำไรได้มากกว่า เนื่องจากราคายังไม่วิ่ง แต่ความเป็นจริงการคำนวณราคา NAV ไม่เหมือนกับหุ้น การตัดสินใจในการซื้อกองทุนรวมจึงไม่ใช่ดูราคา NAV ต่ำหรือสูง แต่ควรดูการเปลี่ยนแปลงของ NAV มากกว่า เพราะฉะนั้นควรทำความเข้าใจให้กระจ่างซะก่อน เพื่อป้องกันการตัดสินใจผิดพลาดนั่นเอง
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้รับรองได้ว่านักลงทุนมือใหม่ต้องทำความเข้าใจกับ NAV ได้แล้วอย่างแน่นอน ดังนั้นอย่าลืมใช้ NAVให้เป็นประโยชน์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนมือใหม่หรือนักลงทุนมืออาชีพก็ตาม เพราะ NAV สามารถนำมาใช้ได้อย่างเป็นประโยชน์เสมอ จึงไม่ควรมองข้ามเลยเชียว