จากพระนามของพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่มีความหมายว่า ภูมิพล ที่มีความหมายมาจากคำว่า ภูมิ ที่หมายความว่า “แผ่นดิน” และ พล หมายความว่า “พลัง” รวมกันแล้วหมายถึง “พลังแห่งแผ่นดิน” จึงส่งผลพระองค์กลายเป็นกษัตริย์นักพัฒนาที่ทรงสร้างประโยชน์คุณูปการอย่างมากมายให้กับประเทศและพสกนิกรชาวไท จนเรียกได้ว่าตลอดรัชสมัยที่ทรงครองราชย์ของพระองค์ไม่มีวันใดเลยที่ท่านละทิ้งประชาชนและแผ่นดินไทย สมกับคำว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
จากคำมั่นสัญญานั้น จวบจนตลอดรัชสมัยการครองราชย์ของพระองค์ จึงได้มีการจัดตั้งโครงการต่าง ๆ มากมายที่สามารถช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่เหล่าพสกนิกรชาวไทยเสมอมา และอีกหนึ่งโครงการที่เกิดขึ้นจากพระเมตตาและสายพระเนตรที่ยาวไกลของกษัตริย์นักพัฒนาพระองค์นี้ก็คือ โครงการหลวง ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากพระราชดำริ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือชาวเขาบนดอยสูงให้มีที่ทำกินและสามารถรายได้เพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน การตั้งโครงการหลวงตามแนวพระราชดำริขึ้น จึงเปรียบเสมือนน้ำทิพย์จากน้ำพระทัยของพระองค์ที่ไม่ใช่แค่เพียงจะช่วยพลิกฟื้นผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งแต่ยังช่วยให้ประเทศชาติห่างไกลจากการค้ายาเสพติดและช่วยให้พสกนิกรของพระองค์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น
ในปัจจุบันการดำเนินงานของโครงการหลวงได้ขยายสาขาในการทำงานออกเป็นสถานีวิจัยโครงการหลวงทั้งหมด 4 สถานีที่ดอยอ่างขาง อินทนนท์ หลวงปาดะ และแม่หลอด รวมถึงยังมีศูนย์พัฒนาโครงการอีกหลายโครงการหลวงตามพื้นที่บนดอยต่าง ๆ โดยแต่ละที่นั้นมีหน้าที่สำคัญก็คือ
- หน้าที่ทางด้านการทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชเมืองหนาวทั้งพืชท้องถิ่นและพืชต่างประเทศ เพื่อนำมาเพาะปลูกบนดอยและแจกจ่ายให้กับเกษตรกรชาวเขาในการนำไปปลูกบนที่ดินทำกิน
- หน้าที่ทางด้านการให้ความรู้ในรูปแบบของการศูนย์จัดการเรียนรู้การอบรมทางวิชาการให้กับเจ้าหน้าทีบุคลากร เกษตรกร นักวิชาการทั้งใประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ได้มีโอกาสเข้าร่วมฝึกงานเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินงาน และเข้าใจถึงหลักการแห่งโครงการพระราชดำริและสามารถนำไปปรับใช้เป็นวิถีแนวทางการเกษตรของตัวเอง
- เปิดสถานีหรือศูนย์โครงการหลวงให้เข้าเยี่ยมชมและเรียนรู้แนวทางในการวิจัย ทดลองและพัฒนาการส่งเสริมการเกษตรบนดอยสูง
- เป็นศูนย์รวมการศึกษาถึงวิถีชีวิตของชนเผ่าต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ถึงประเพณี วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมของวิถีดั้งเดิมที่สามารถผสานรวมอยู่กับแนวการพัฒนาตามแนวทางเกษตรทฤษฏีใหม่ที่สามารถช่วยอนุรักษ์และฟื่นฟูธรรมชาติ ป่าเขา ต้นน้ำลำธารให้ยังคงอยู่ รวมถึงพัฒนาอาชีพตามแนวทางแบบเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี