ยางสึก ยางรถยนต์เสื่อม เกิดจากยางรถยนต์ที่ซื้อมาไม่ได้คุณภาพจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเกิดจากการใช้งานในการขับขี่รถยนต์ในแต่ละวัน วันนี้ masii เลยได้นำบทความดีๆ จากไทร์บิดมาฝาก เกี่ยวกับสาเหตุที่แท้จริงของยางสึกกันเลย
ยางสึก แปลกๆ ยางที่ซื้อมาไม่ได้คุณภาพจริงๆ รึเปล่า ?
สวัสดีครับเพื่อนๆ ชาวไทร์บิดทุกท่าน ช่วงนี้หลายท่านชอบทักมาถามว่าทำไมยางรุ่นนี้ไม่ค่อยดี รุ่นโน้นไม่ค่อยดี ยางสึกแปลกๆ เป็นลูกคลื่น สึกด้านในบ้าง ทำไมยางรุ่นเก่าที่เคยใช้ไม่เคยเป็นเลย หรือบางท่านโทษว่าเป็นยางเก่า ไม่ใช่มาตรฐานโรงงานรึเปล่า ซึ่งคำถามต่างๆ เหล่านี้เป็นคำถามที่จอร์จอยากจะพยายามทำความเข้าใจกับเพื่อนๆ ทุกท่านว่า มีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ข้างต้นบ้างไหม ก็คงต้องบอกว่ามีบ้างแต่น้อยมากๆ ที่สาเหตุเกิดจากการผลิต ทำให้ยางสึกผิดปกติ เพราะฉะนั้นเรามาดูสาเหตุใหญ่ๆ กันดีกว่าว่า ยางที่สึกผิดปกตินั้นมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง เพื่อให้เพื่อนๆ ได้รู้เหตุผลที่แท้จริง และจะได้ดูแลรถและยางของเพื่อนๆ ครับ
ข้อแรกเลย เป็นเรื่องของการสึกร่องดอกยางด้านใน หรือสึกร่องดอกยางด้านนอก โดยสึกเหมือนกันทั้งด้านซ้ายและขวา โดยจะพบเจออาการนี้ที่ยางคู่หน้าเป็นหลัก และอาจมีคู่หลังบ้าง ซึ่งอาการแบบนี้มีสาเหตุหลักๆ มาจากเรื่องของศูนย์ล้อ ซึ่งศูนย์ล้อนั้นจะสามารถตั้งได้สองแบบ ทั้งมุมโท กับ มุมแคมเบอร์ ซึ่งอาการที่เป็นข้อแรกนี้ หลักๆ จะมาจากมุมโท ซึ่งมุมโทจะเป็นการที่หน้ายางนั้นกางออกมากเกินไป (เหมือนเป็ดเดินขาอ้าๆ) หรือ หุบมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ยางถูกใช้งานมากด้านใดด้านหนึ่ง และสึกผิดปกติ สึกร่องดอกยางในหรือนอกด้านเดียว ซึ่งการตั้งศูนย์จะทำให้ศูนย์โทนั้นพอดีกับการใช้งานของรถนั้นๆ แต่ว่าก็มีอีกสองอย่างที่อยากจะบอกเพื่อนๆ ไว้ก็คือ รถยุโรป อาทิ รถเบนซ์ และ BMW ส่วนมากจะมีปัญหานี้และยากที่จะแก้ไข เพราะว่ามุมล้อของรถประเภทนี้จะถูกให้การใช้งานที่เกาะถนนมากกว่าปกติเล็กน้อย โดยการทำมุมองศาทำให้อาการกินยางด้านในนั้นแก้ไขลำบาก และ อีกอย่างที่อยากจะบอกก็คือ เวลาเปลี่ยนยางใหม่ จริงๆ แล้วไม่ได้กระทบกับศูนย์ล้อเดิมครับ บางทีศูนย์ล้อเราไม่ได้เพี้ยน พอไปเปลี่ยนยางใหม่แล้วตั้งศูนย์ใหม่กลับเพี้ยนทำให้อาการกินยางเกิดขึ้นได้ครับ
ส่วนอีกมุมหนึ่งที่เรียกว่ามุมแคมเบอร์ เป็นอาการที่ล้อนั้นแบะออกมาเกินไป ซึ่งจะทำให้ยางสึกด้านในทั้งล้อซ้ายและล้อขวาเหมือนกัน และ อาจจะส่งผลทำให้การขับขี่เอียงไปด้านในด้านหนึ่งได้ด้วย ซึ่งอาการตั้งศูนย์จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ครับ
ข้อที่สองคือ ช่วงล่างครับ โดยจะแบ่งเป็นสองประเภทหลักๆ ก็คือประเภทของการที่ทำให้ยางนั้นวิ่งไม่กลมตลอดเวลา ซึ่งอาการนี้จะส่งผลให้ดอกยางนั้นสึกเป็นลูกคลื่น และ อีกแบบหนึ่งคือการที่ยางในเส้นนั้นถูกกดทับน้ำหนักมากกว่าปกติครับ โดยอาการสึกแบบนี้จะเกิดขึ้นที่ล้อใดล้อหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เกิดเป็นคู่สักเท่าไหร่ (แต่มีโอกาสนะครับกรณีที่ช่วงล่างพังพร้อมกัน)
เรามาเริ่มที่อาการสึกที่เกิดเป็นลูกคลื่นและยางวิ่งไม่กลม ซึ่งหลักๆ แล้วอาการนี้จะมีลักษณะการสึกทั้งแบบทั้งหน้ายาง และ บริเวณไหล่ยางครับ ซึ่งอาการจะเกิดจาก 1 โช้คอัพแตก หรือ ใช้งานไม่ได้ ซึ่งจะทำให้จังหวะในการซัพพอร์ตแรงกดทับนั้นไม่สม่ำเสมอ และยางจะมีการกดทับไม่สม่ำเสมอเช่นกัน และจะทำให้บางตำแหน่งถูกกดทับเยอะบางจุดกดทับน้อย พอเป็นทั้งรอบวงก็จะทำให้เกิดการสึกเป็นลูกคลื่นได้ โดยการสึกแบบนี้จะสึกแบบเต็มหน้ายาง รวมถึงหากลูกปืนเสียหายก็ส่งผลให้เกิดเป็นอาการลูกคลื่นได้เช่นกัน เพราะว่ายางไม่สามารถหมุนได้กลมอย่างเต็มที่และก็ส่วนสุดท้ายก็อาจจะเกิดจากเรื่องการถ่วงล้อ หากถ่วงล้อได้ไม่ดี เกิดการไม่สมดุลของยาง เมื่อใช้งานไปนานๆ อาจจะทำให้เกิดการสึกรอบวงที่ไม่เท่ากัน โดยจะสึกแบบไม่เท่ากัน และ แต่ละตำแหน่งก็ไม่แน่ครับ
ประเภทการถูกกดทับซึ่ง อาการหลักๆ จะเกิดจากช่วงล่างของปีกนกที่ชำรุดและเสียหายครับ ซึ่งอาการเมื่อปีกนกเสียหาย ยางด้านในจะถูกกดทับมากกว่าปกติจะทำให้ร่องยางด้านในนั้นสึกมากกว่าปกติ อาจจะเป็นที่ข้างใดข้างหนึ่ง และถ้าประกอบกับช่วงล่างอื่นๆ อาจจะทำให้ร่องดอกยางด้านในมีอาการสึก และสึกเป็นลูกคลื่นด้วย
แต่ก็จะเป็นอาการสึกผิดปกติของยางที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องของยางเลย แต่เป็นเรื่องของช่วงล่างและการดูแลศูนย์รถ ซึ่งอาการช่วงล่าง จริงๆ แล้วถ้าเรามีการหมั่นตรวจเช็คหรือคอยสังเกตอาการของรถ ก็จะทำให้ไม่เกิดความเสียหายต่อยางของเราครับ หากเพื่อนๆ มีข้อสงสัยเรื่องยางสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญยางรถยนต์ที่ Line Official : @tiresbid หรือเข้าอ่านบทความยางรถยนต์ฟรี พร้อมเช็กราคาเปรียบเทียบยางออนไลน์สะดวกรวดเร็วกว่า 10 ยี่ห้อยางชั้นนำที่ www.tiresbid.com มีบทความมากมายเกี่ยวกับยางที่ให้เพื่อนๆอ่านครับ
สนใจสมัครประกันรถยนต์
และสำหรับใครที่ต้องการความคุ้มครองเพิ่มเติม สามารถ คลิกที่นี่ เพื่อซื้อประกันหรือเปรียบเทียบประกันรถยนต์กับเว็บไซต์มาสิได้ง่ายๆ หรือโทร. 02 710 3100 เพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและแอดไลน์มาเป็นเพื่อนกับเราที่ @masii เพื่อติดตามข่าวสารและบทความดีๆ เกี่ยวกับ ประกันรถยนต์ ประกันมอเตอร์ไซค์ ประกันภัยโดรน ประกันสุขภาพ ประกันเดินทาง รวมถึง สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสด และบัตรเครดิตจากสถาบันการเงินชั้นนำ