นักการตลาดทั่วโลก ต่างคิดค้นสารพัดกลยุทธ์เพื่อเอาใจคนวัย มิลเลียนเนียล (Millennials) หรือ กลุ่มคนที่เกิดในช่วง พศ. 2523–2543 ซึ่งปัจจุบันจะมีอายุตั้งแต่ 18-38 ปี เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ได้กลายเป็นจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 20 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของประชากรทั่วโลก และมีศักยภาพในการใช้จ่ายมากที่สุด
รู้จักการเงินสไตล์คนวัย มิลเลียนเนียล
ดังนั้นในฐานะที่เราอยู่ในช่วงวัยมิลเลียนเนียลนี้ และมีเป้าหมายในการเก็บเงิน เพื่อสร้างเนื้อสร้างหรืออะไรก็ตามแต่ สิ่งที่พอจะเป็นอาวุธไว้ต่อสู้กับกลยุทธ์สุดล้ำจากนักการตลาดจอมครีเอทต่างๆ ก็หนีไม่พ้นวิธีการรู้เขารู้เรา หรือการวิเคราะห์กลับไปซิว่า เหตุการณ์ใดบ้างที่จะทำให้เป้าหมาย ในการมีนักวินัยทางการเงินที่ดี อาจจะต้องสะเทือน!
“คนกลุ่มนี้เติบโตพร้อมสื่อออนไลน์”
นี่เป็นประโยคหลักๆ ที่นักการตลาดมีไว้เพื่อใช้อธิบายพฤติกรรมการใช้จ่ายของวัยมิลเลียนเนียล จึงทำให้การเสนอขายสินค้ามักอยู่ในรูปแบบที่เปิดกว้าง ใช้สื่ออินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ อะไรที่สามารถจับมาสร้างเป็นกระแสและทำให้คนสนใจในโลกออนไลน์ได้จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ ดังที่เราจะเห็นการรีวิวมากมาย จากทั้งในเว็บไซต์ หรือเพจเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมต่างๆ และเกิดการสร้างแฮชแท็กเก๋ๆ ขึ้นมา เช่น #ของมันต้องมี #มันก็จะ…หน่อยๆ #สะบัดต่อไม่รอแล้วนะ #รอปาด #อร่อยบอกต่อ เป็นต้น
เหตุนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องมองให้ออกว่า แท้จริงแล้ว นี่เป็นการรีวิวที่ไม่หวังผลทางการค้า หรือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางการตลาดนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าเราอาจอยากลองใช้สินค้าเหล่านั้น เพื่อจะได้ดูดีเหมือนคนที่มารีวิว แต่ขอบอกไว้ก่อนเลยว่าบางครั้งคนที่รีวิวก็ไม่ได้จริง และมันก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่เราต้องมีด้วยซ้ำ
“คนกลุ่มนี้ไม่มี Brand Loyalty”
นี่เป็นประโยคถัดมา ในการสรรหาสินค้ามาให้โดนใจวัยมิลเลียนเนียล ซึ่งในจุดๆ นี้หลากหลายแบรนด์ก็จะใช้การดำเนินธุรกิจที่เน้นเรื่องใส่ใจสังคม สิ่งแวดล้อมหรือส่วนรวม มีการเล่าเรื่องราวความเป็นมาของแบรนด์ สร้างภาพลักษณ์ที่ดูเข้าถึงง่าย หยิบจับพรีเซ็นเตอร์ หรือคนดังในโลกออนไลน์ ที่มีความสนุกสนาน ตลก หรือดูดีในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง รวมทั้งเน้นเรื่องความคุ้มค่าคุ้มราคา
อย่างไรก็ตามแม้ว่าเราจะเห็นภาพที่ดีของแบรนด์นั้นๆ หรือรู้สึกถูกในใจพรีเซ็นเตอร์คนไหนเป็นพิเศษอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญก็คือในแง่การจับจ่าย เราก็ยังควรพิจารณว่าคุ้มหรือไม่ถ้าหากจะลองซื้อมาใช้ เพราะบางอย่างเราอาจรู้สึกถูกใจภาพลักษณ์ มากกว่าคุณภาพที่แท้จริงของมันก็เป็นได้
“คนกลุ่มนี้เน้นการพัฒนาตนเอง และเลือกสร้าง Life-Balance”
การที่ชาวมิลเลียนเนียล ถูกวิเคราะห์ว่ามีความต้องการพัฒนาตนเองและเลือกสร้าง Life-Balance ให้การงานและชีวิตสมดุลกันนั้น นำมาสู่คอร์ส How To ต่างๆ มากมาย ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะความสามารถ ที่เน้นให้เรียนออนไลน์ หรือวิธีการขายของแบบใช้แรงบันดาลใจจากคนที่ประสบในหน้าที่การงานนั้นๆ มาเป็นตัวตั้ง ซึ่งแน่นอนว่าหากเราเป็นคนที่ชอบฝักใฝ่ในการค้นหาความรู้และเพิ่มทักษะความสามารถให้ตัวเองอยู่แล้ว ทุกครั้งที่เล่นอินเทอร์เน็ต ก็จะมีคอร์สเรียนเหล่านี้มาโฆษณาให้เห็นอยู่เนืองๆ
อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายเงินในรูปแบบนี้ แม้จะถือเป็นการลงทุนที่ดีและสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับชีวิต แต่เราไม่ควรลืมว่า ในข้อดีก็มีสิ่งที่เรียกว่า ‘เรียนมาแต่ไม่นำไปใช้’ อยู่ด้วยเช่นกัน เพราะเราอาจได้รับแรงบันดาลใจ หรือความรู้ใหม่ๆ มาก็จริง แต่บางครั้งการเลือกเรียนหลายๆ คอร์ส ที่ไม่ค่อยต่อยอดให้กันละกัน อาจกลายเป็นการรู้แค่ผิวๆ หรือไม่ลงลึกไปยังศาสตร์นั้นจริงๆ จนทำให้สิ่งที่เราขวยขวายไป กลายเป็นไม่คุ้มค่าเท่าที่ควรนั่นเอง