เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วกันว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้นทรงเป็นกษัติรย์ที่มีหัวใจของนักพัฒนา และเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก ด้วยโครงการส่วนพระองค์ทั้งโครงการหลวง และโครงการตามแนวพระราชดำริที่มากกว่า 4,000 โครงการ
ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติภารกิจทางด้านการพัฒนาในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และได้ทรงพระราชดำริโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ภายหลังจากการเสด็จเยี่ยมราษฏรในภูมิภาคต่าง ๆ ที่ด้อยโอกาส มีความยากจนแร้นแค้นให้ได้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งทุกย่างก้าวที่พระองค์ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนิน พระองค์จะช่วยปัดเป่าขจัดความทุกข์ยากและนำความผาสุกมาให้กับราษฎรทุกพื้นที่ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล และพระปรีชาสามารถที่ปราดเปรื่องจนนำความเจริญมาสู่ประเทศชาติตลอดมา
การก่อตั้งและพัฒนาโครงการหลวง รวมถึงโครงการในพระราชดำริจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่พระองค์ท่านได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอด้วยหวังผลทางด้านการพัฒนาทรัพยากรทางธรรมชาติและยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฏรในพื้นที่ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการก่อตั้งโครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา ด้วยการพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมกับเงินที่มีผู้ทูลเกล้าถวานอีกส่วนหนึ่งเพื่อเป็นทุนเริ่มต้นในการดำเนินโครงการ ส่วนวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งโครงการหลวงในเริ่มแรกนั้นต้องการทำเพื่อช่วยเหลือชาวเขาเพื่อมนุษยธรรม ช่วยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมกับการช่วยกำจัดการปลูกฝิ่นและอนุรักษ์ดินรวมถึงใช้พื้นที่ให้ถูกต้องคือให้ป่าอยู่ส่วนที่เป็นป่า และทำไร่ ทำสวน
โดยการดำเนินการในส่วนแรกเป็นไปในลักษณะของการเปิดโอกาสให้อาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หน่วยงานราชการ กรมวิชาการเกษตรและนักวิชาการต่าง ๆ ได้เข้ามาปฏิบัติงานเพื่อถวายพระองค์ท่านทางด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช รวมถงึการปลูกพืชเพื่อทดแทนการนำไปปลูกฝิ่นจนสำเร็จ
ในปัจจุบัน โครงการหลวง ได้ทำการขยายพื้นที่และพัฒนาโครงการให้เพิ่มมากขึ้นจนครอบคลุมหลายจังหวัดทางภาคเหนือและได้มีการพัฒนากระบวนการจนกลายเป็นศูนย์การเกษตรแบบยั่งยืนที่ครบวงจรโดยศึกษาวิจัยตั้งแต่กระบวนการก่อนการเพาะปลูก การทดลองระหว่างการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว แปรรูปผลผลิตไปจนกระทั่งการจัดจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปและมีผลผลิตที่มาจากโครงการหลวงหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นพืชพันธุ์ผลไม้สด ผลไม้อบแห้ง กาแฟอาราบิก้าคั่วบด ชา หรือข้าวพันธุ์ท้องถิ่น รวมไปจนถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ
ส่วนที่ตั้งของโครงการหลวงในปัจจุบัน อยู่ที่ 4 จังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งแบ่งการทำงานออกเป็น สถานีวิจัย ได้แก่ สถานีวิจัยโครงการหลวง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ สถานีเกษตรหลวงปางดะ สถานีวิจัยและส่งเสริมกาแฟอราบิก้าแม่หลอด และศูนย์พัฒนาโครงการที่กระจายอยู่ตามพื้นที่บนดอยสูงต่าง ๆ เช่นศูนย์พัฒนาโครงการ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอ่างขาง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางดะ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่หลอด เป็นต้น