หุ้น TECH  ไอพีโอที่ร้อนแรงในปีนี้

หุ้น TECH  ไอพีโอที่ร้อนแรงในปีนี้
หุ้น TECH  ไอพีโอที่ร้อนแรงในปีนี้
สมัครรถแลกเงินโปรโมชั่น แจกฟรี Voucher Lazada

หุ้น TECH หรือ หุ้นเทคโนโลยี ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะต่างเคลมกันว่า เป็นหุ้นแห่งอนาคต ซึ่งเทคโนโลยีเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมทั้งในเชิงเศรษฐกิจ เห็นได้จากสหรัฐอเมริกา ยิ่งถ้าหากเข้าไปดูกลุ่มบริษัทที่มี Market Cap สูงสุดนั้น ก็ล้วนแต่เป็นกลุ่มเทคโนโลยีด้วยกันทั้งสิ้น อย่าง Microsoft, Google , Amazon, Facebook  และ Apple เป็นต้น

หุ้น TECH  ไอพีโอที่ร้อนแรงในปีนี้

หุ้น TECH หรือ หุ้นเทคโนโลยี ที่น่าสนใจ 

โดยปัจจุบันในบ้านเราก็มีหุ้นเทคโนโลยีทยอยเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน และถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างมาก ซึ่งพบว่า 3 หุ้นไอพีโอตัวล่าสุดที่เข้าเทรด จัดเป็นหุ้นที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีด้วยกันทั้งสิ้น อาทิ YGG, SICT และ IIG

เริ่มหุ้นไอพีโอตัวแรกของปี 63  อย่างบริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ YGG ที่ได้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กลุ่มบริการ (Service) เป็นวันแรกเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 โดยเปิดตลาดที่ราคา 5.35 บาท เพิ่มขึ้น 0.35 บาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 7% จากราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ที่ 5 บาท ซึ่งการซื้อขายระหว่างวันปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ราคา 6.15 บาท ก่อนจะมาปิดตลาดที่ราคา 6.10 บาท เพิ่มขึ้น 1.10 บาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 22%จากราคาไอพีโอ

YGG ดำเนินธุรกิจให้บริการออกแบบและจัดทำคอมพิวเตอร์กราฟิก แอนิเมชั่น เกี่ยวกับงานโฆษณา ภาพยนตร์ รวมถึงผลิตและรับจ้างผลิตเกม โดยมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นที่รู้จัก เช่น ภาพยนตร์แอนิเมชั่น 3 มิติ “Nezha” ของจีน ภาพยนตร์ไทย “โฮมสเตย์” และซีรีย์ “เคว้ง” ที่ออกอากาศทาง Netflix นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ผลิตและออกแบบเกม”Home Sweet Home” เกม 3 มิติ สัญชาติไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยกลุ่มลูกค้าหลักเป็นลูกค้าจากประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น

ตั้งแต่เข้าเทรดวันแรก ราคาหุ้นของ YGG เพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง จนล่าสุด ณ วันที่ (6 ส.ค.63) ราคาหุ้นปิดการซื้อขายที่ระดับ 13.60 บาท เพิ่มขึ้น 172% จากราคาไอพีโอที่หุ้นละ 5 บาท และจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงนั้น เป็นเหตุทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ประกาศใช้ เกณฑ์ Cash Balance ช่วง 7 ก.ค.-14 ส.ค.63

ไม่เพียงแค่ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น YGG ยังมีผลงานที่เติบโตอย่างโดเด่น เห็นได้จากงวดไตรมาส 1/63 มีกำไรสุทธิ 13.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.96%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7.31 ล้านบาท และมีรายได้รวม 57.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.46 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 25.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 45.77 ล้านบาท

จากตัวเลขที่รายได้รวมปรับตัวเพิ่มขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่จะมาจากงานคอมพิวเตอร์กราฟฟิกมีรายได้เพิ่มขึ้น 59.20%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีโปรเจกต์ขนาดใหญ่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัททยอยรับรู้รายได้ในงวดบัญชีนี้ ส่วนงานเกมมีรายได้เพิ่มขึ้น 16.93% เนื่องจากบริษัทมีการนำเกม Home Sweet Home ภาค 1 ซึ่งได้เริ่มจัดจำหน่ายตั้งแต่ปลายปี 2560 เข้าร่วมโครงการโปรโมชั่นกับผู้จัดจำหน่ายทำให้สามารถกระตุ้นยอดขายได้เป็นอย่างดี

ตามด้วยบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SICT เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เป็นวันแรกเมื่อวันที่ 30 ก.ค.63 ในกลุ่มเทคโนโลยี โดยเปิดและปิดตลาดที่ราคาซิลลิ่ง 4.14 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 2.76 บาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 200% จากราคาไอพีโอที่ 1.38 บาท/หุ้น

SICT ประกอบธุรกิจออกแบบ วิจัยและพัฒนาวงจรรวม (Integrated Circuit Design) หรือไมโครชิพ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์ระบบระบุข้อมูลของวัตถุที่ขึ้นทะเบียนด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Identification: RFID) และว่าจ้างผลิตเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า “SIC” ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหรัฐอเมริกา

สินค้าของบริษัทแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. ไมโครชิพสำหรับระบบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ (Immobilizer)
  2. ไมโครชิพสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ (Animal Tag)
  3. ไมโครชิพสำหรับระบบเข้า-ออกสถานที่ (Access Control) และระบบการอ่านข้อมูล (Interrogator)
  4. สินค้าและบริการอื่น ๆ เช่น ไมโครชิพสำหรับระบบฉลากอัจฉริยะ (Smart Label) ไมโครชิพสำหรับตรวจวัดค่าเซ็นเซอร์ต่าง ๆ (Smart Sensor) รวมถึงการให้บริการหรือจำหน่ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ตั้งแต่เข้าเทรดวันแรก ราคาหุ้นของ SICT เพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง จนราคาหุ้นพุ่งชนซิลลิ่งต่อเนื่อง และหากนับจากเทรดวันแรก คือวันที่ 30 ก.ค.63 จนถึงปัจจุบัน (6 ส.ค.63) รวมประมาณ 6 วันทำการ ราคาหุ้นปิดการซื้อขายของวันที่ 6 ก.ค.63 ที่ 5 บาท เพิ่มขึ้นสูงถึง 262.32% จากราคาไอพีโอ

IIG  วางเป้าปี 63 มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

ล่าสุดบริษัท ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ IIG ที่เข้าเทรดมาหยกๆ วันที่ 6 ส.ค.ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กลุ่มเทคโนโลยี โดยเปิดและปิดตลาดที่ราคาซิลลิ่ง 19.80 บาทเช่นเดียวกัน ปรับเพิ่มขึ้น 200% จากราคาไอพีโอที่ 6.60 บาท/หุ้น

IIG เป็นผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีให้แก่ภาคธุรกิจต่าง ๆ อย่างครบวงจร ตั้งแต่ธุรกิจที่ปรึกษาและให้บริการออกแบบติดตั้งระบบบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) และให้เช่าใช้ระบบซอฟต์แวร์จาก Salesforce,

รวมทั้งธุรกิจที่ปรึกษาและให้บริการออกแบบติดตั้งระบบวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) และเป็นตัวแทนจำหน่ายระบบซอฟต์แวร์จาก Oracle, ธุรกิจที่ปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์แบรนด์ (Brand Strategy) การสร้างและบริหารประสบการณ์ (Experience Management) และการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) และธุรกิจให้บริการจัดหาบุคลากรในส่วนงานสารสนเทศ

นายสมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IIG ยังเปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าปี 63 จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท เติบโตจากปี 62 ที่มีรายได้ระดับ 396 ล้านบาท โดยวางแผนรักษาอัตรากำไรสุทธิให้อยู่ในระดับตัวเลข 2 หลัก พร้อมเดินหน้าสร้างการเติบโต สร้างอัตรากำไรให้อยู่ในระดับที่ดี ซึ่งปัจจุบันมีคำสั่งซื้อยาวไปจนถึงปี 64 แล้ว

ขณะเดียวกันแผนระยะยาวบริษัทวางเป้าหมาย 3 ปีนับจากนี้ จะมีรายได้เติบโตมาอยู่ที่ระดับ 800 ล้านบาท โดยธุรกิจของบริษัทจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ เห็นได้จากช่วงไตรมาส 2 ที่มีการระบาดของ COVID-19 แต่บริษัทยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ผลการดำเนินงานในปี 63-64 ของ IIG จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งสวนทางวิกฤติ COVID-19 จากทั้งฐานลูกค้าหลักเดิมที่ยังคงใช้บริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้ลูกค้าใหม่เข้ามาเพิ่ม อ้างอิงจากนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) พร้อมยังระบุอีกว่า ขณะนี้คาดรายได้ในปี 63 เติบโต 35.1% จากปีก่อน และปี 64 คาดเติบโต 19.7% จากปี63 (ปี 63 มี Backlog รองรับแล้วเกือบทั้งหมด)

ขณะที่ฝั่ง Margin แม้จะอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากการเพิ่มบุคลากรรับการเติบโตระยะยาว แต่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้กำไรสุทธิปี 63 คาดว่าจะเติบโตมาที่ 60 ล้านบาท เติบโต 25.3% จากปี 62 ส่วนปี 64 คาดว่าจะเติบโตมาอยู่ที่ 69 ล้านบาท เติบโต 19.7% จากปี 63  โดยคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 22.5% CAGR

ประเมินมูลค่าหุ้นของ IIG อิง PE 15 เท่าโดยสูงกว่ากลุ่ม SI อย่าง AIT, SAMTEL, MFEC ซึ่งมีสัดส่วนงานรับเหมาสูง แต่ต่ำกว่า HUMAN ที่มีรายได้ Recurring กว่า 80-90% โดยคำนวณราคาเหมาะสมได้ที่ 9 บาท โดย ณ ระดับราคาดังกล่าวเทียบกับการเติบโตเฉลี่ยปี 63-64 คิดเป็น PEG ที่ 0.67 เท่า 

หุ้น TECH  ไอพีโอที่ร้อนแรงในปีนี้

เศรษฐกิจไทยกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิตอล

นายวิศรุต อังศุภากร ผู้อำนวยการสายงานวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานเทรดวันแรกของ IIG ว่า ราคาหุ้น IIG ที่เปิดเทรดในวันแรกนั้น ได้รับอานิสงส์จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นดิจิตอล ผู้ประกอบการมีการปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ IIG ยังมีพื้นฐานที่ดี ฐานะการเงินแข็งแกร่ง

พบ 2 หุ้นเทคฯกำลังเตรียมเทรด

จากราคาหุ้นทั้ง 3 หลักทรัพย์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง สวนทางตลาดหุ้นที่ซบเซา จึงเป็นที่น่าจับตาว่าหุ้นเทคโนโลยีที่มีแผนจะเข้าตลาดหุ้น จะมีผลตอบรับที่ดีแบบนี้อีกหรือไม่ โดย Wealthy Thai ได้สำรวจข้อมูลพบว่า หุ้นเทคโนโลยีกำลังเตรียมเข้าเทรด 2 หลักทรัพย์ คือ บริษัท เจ.อาร์.ดับเบิ้ลยู. ยูทิลิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ JR และ บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY

JR มีแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กลุ่มอุตสาหกรรม เทคโนโลยี ดำเนินธุรกิจให้บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้างและติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร รวมถึง จำหน่ายอุปกรณ์และให้บริการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ

ทั้งนี้หุ้นที่ IPO มีจำนวน 100,000,000 หุ้น คิดเป็น 26.32% ของหุ้นทั้งหมดหลัง IPO ประกอบด้วย

1.เสนอขายต่อประชาชน จำนวน 92,000,000 หุ้น 2. เสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท จำนวน 8,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

SABUY มีแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กลุ่มอุตสาหกรรม บริการ ดำเนินธุรกิจ

1.ให้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้เติมเงินอัตโนมัติ การจำหน่ายตู้เติมเงินอัตโนมัติทั้งในรูปแบบการชำระด้วยเงินสดและเงินผ่อน และให้บริการตู้เติมเงินอัตโนมัติในระบบ แฟรนไชส์ (Franchise) ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เติมสบายพลัส”

2. การจำหน่ายเครื่องดื่มและอาหารสำเร็จรูปผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เวนดิ้ง พลัส”

3. ให้บริการติดตั้งและวางระบบศูนย์อาหาร รวมถึงการให้บริการจัดการศูนย์อาหารพร้อมการจ้างบำรุงรักษาซ่อมแซมศูนย์อาหาร

4. ให้บริการชำระเงิน (Payment Service Provider / Facilitator)

โดยหุ้นที่ IPO จำนวนไม่เกิน 157,017,300 หุ้น (คิดเป็นร้อยละ 15.62 ของทุนจดทะเบียนชำระหลัง IPO) ประกอบด้วย 1.หุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 117,017,300 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 11.64 ของทุนจดทะเบียนชำระหลัง IPO 2.หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย นายวิชัย วชิรพงศ์ จำนวนไม่เกิน 40,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 3.98 ของทุนจดทะเบียนชำระหลัง IPO มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

“แม้ราคาหุ้นไอพีโอจะร้อนแรงแค่ไหน แต่บรรทัดสุดท้ายแล้ว ต้องวัดกันที่ผลงาน หากออกมาได้ดี ก็ถือว่าคุ้มราคา แต่ถ้าตรงกันข้าม? จะยังมีความน่าสนใจอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ในช่วงที่จะรายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 2/63 กันแล้ว เราต้องติดตามดูว่า ทั้ง 3 หลักทรัพย์ดังกล่าว จะมีผลงานเป็นที่น่าพอใจ ตามราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นสูงขนาดนี้หรือไม่ ส่วนอีก 2 หลักทรัพย์ที่กำลังจะเข้าเทรด ผลตอบรับจะดีเหมือนรุ่นพี่ไหม ต้องคอยติดตาม”

สนใจสมัครสินเชื่อส่วนบุคคล

regis-but
สนใจสมัคร

ส่วนใครที่กำลังมองหาแหล่งเงินทุน หรือ สินเชื่อส่วนบุคคล สามารถเปรียบเทียบข้อมูลและเลือกสมัครสินเชื่อออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ มาสิ เพียงแค่ คลิกที่นี่ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสมัครสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต สินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน สามารถติดต่อได้ที่ 02 710 3100  รวมถึง แอดLINE:@masii มาสอบถามกันได้เลย

ขอบคุณบทความจาก : Wealthy Thai

banner-personal-loan