กรมการขนส่งทางบก ระบุตั้งแต่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ก่อนการขอใบอนุญาตขับรถ หรือใบขับขี่ และการต่อใบขับขี่ รถยนต์ทุกชนิดทุกประเภท ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ทุกครั้ง พร้อมกับเผยความคืบหน้าในการขอใบขับขี่บิ๊กไบค์ ที่กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมในการอบรมและทดสอบเพิ่มเติม เพื่อรองรับเมื่อกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ ส่วนจะมีรายละเอียดอย่างไรนั้น ตาม masii ไปดูกันเลย
ขนส่งฯ ระบุ ต่อใบขับขี่ ทำใบขับขี่ ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ เริ่ม 19 ก.พ. 64
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกได้มีการปรับเปลี่ยน หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทำใบขับขี่ และการต่อใบขับขี่ ซึ่งได้เพิ่มรายละเอียดของใบรับรองแพทย์ที่ต้องใช้ประกอบเป็นหลักฐานในการดำเนินการ โดยมีประกาศกฎกระทรวง เรื่อง การขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2563 ลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการทำใบขับขี่ หรือ ต่อใบขับขี่ ต้องแสดงหลักฐานให้เห็นว่าผู้นั้นไม่มีโรคประจำตัว หรือสภาวะของโรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถตามที่แพทยสภากำหนด ซึ่งในส่วนนี้กรมการขนส่งทางบกจะประสานความร่วมมือกับแพทยสภาในการกำหนดโรคหรือสภาวะของโรคที่ต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาตขับรถ และจะวางแนวทางในการตรวจรับรองของแพทย์กับแพทยสภาให้เรียบร้อยก่อนกฎกระทรวงจะมีผลใช้บังคับ
นอกจากนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวยังกำหนดให้ผู้ที่ต้องการต่อใบขับขี่ จะต้องใช้ใบรับรองแพทย์ประกอบในการดำเนินการอีกด้วย ซึ่งแต่เดิมจะใช้ใบรับรองแพทย์เฉพาะการทำใบขับขี่ชั่วคราว (ใบขับขี่ใหม่) และการต่อใบขับขี่ชนิด 2 ปี เป็น 5 ปี แต่ด้วยสมรรถภาพร่างกายของผู้ขับรถย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่เพิ่มขึ้นและอาจมีโรคประจำตัว หรือมีสมรรถภาพร่างกายที่บกพร่องจนไม่สามารถขับรถได้ จึงกำหนดให้ต้องมีใบรับรองแพทย์มาประกอบในการต่อใบขับขี่ชนิด 5 ปี เป็น 5 ปี รวมถึงการต่อใบขับขี่มอเตอร์ไซค์ และใบขับขี่รถยนต์ทุกประเภทด้วยเช่นกัน โดยจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
เอกสารทำใบขับขี่ / ต่อใบขับขี่ 2564
ในกรณีที่ผู้ขอเป็นผู้มีสัญชาติไทย
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ใบรับรองแพทย์ ซึ่งแสดงว่าไม่มีโรคประจำตัวหรือไม่มีสภาวะของโรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถตามที่แพทยสภากำหนด และไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน โดยมีอายุใช้ได้ตามที่แพทย์ผู้รับรองกำหนด เว้นแต่ในกรณีที่ใบรับรองแพทย์ ไม่ได้กำหนดอายุไว้ ให้ใช้ได้ไม่เกินหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ออกใบรับรองแพทย์
- หลักฐานการรับรองซึ่งแสดงว่าได้ผ่านการอบรมและจบหลักสูตรการอบรมจากกรมการขนส่งทางบก หน่วยงานที่กรมการขนส่งทางบกมอบหมาย หรือโรงเรียนสอนขับรถ ที่กรมการขนส่งทางบกรับรองตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
- ใบขับขี่เดิมที่ยังไม่หมดอายุ (ภายใน 3 เดือนก่อนหมดอายุ) หรือหมดอายุไม่เกิน 1 ปี สำหรับผู้ที่ต่อใบขับขี่
ในกรณีที่ผู้ขอเป็นคนต่างด้าว
- ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง พร้อมด้วยภาพถ่าย
- ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือเอกสารหรือหลักฐานแสดงที่พักอาศัยในราชอาณาจักรที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศออกให้ หรือใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พร้อมด้วยภาพถ่าย
- ใบรับรองแพทย์
- หลักฐานการอบรม
- ใบขับขี่เดิมที่ยังไม่หมดอายุ (ภายใน 3 เดือนก่อนหมดอายุ) หรือหมดอายุไม่เกิน 1 ปี สำหรับผู้ที่ต่อใบขับขี่
ผู้ที่ต้องการทำใบขับขี่รถสาธารณะ ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ตรวจเพิ่มเติม
สำหรับผู้ที่ต้องการขอต่อใบขับขี่รถสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น ใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ ใบขับขี่รถยนต์สามล้อสาธารณะ และใบขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ ให้ยื่นคำขอพร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานต่อไปนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวที่ได้รับมาแล้วไม่น้อยว่า 1 ปี หรือใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลที่ยังไม่หมดอายุ (ฉบับจริง 1 ฉบับ และสำเนา 1 ฉบับ)
- ใบรับรองแพทย์ซึ่งแสดงว่า
- ไม่มีโรคประจำตัวหรือไม่มีสภาวะของโรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่า อาจเป็นอันตรายขณะขับรถตามที่แพทยสภากำหนด
- ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน
- ไม่เป็นผู้ติดสุรายาเมาหรือยาเสพติดให้โทษ
- ไม่เป็นผู้เป็นโรคติดต่อ
- โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการ
- วัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ
สำหรับใบรับรองแพทย์ที่ใช้เป็นหลักฐานในการทำใบขับขี่ และการต่อใบขับขี่ เป็นใบรับรองแพทย์ที่มีอายุใช้ได้ตามที่แพทย์ผู้รับรองกำหนด เว้นแต่ในกรณีที่ใบรับรองแพทย์ไม่ได้กำหนดอายุไว้ ให้ใช้ได้ไม่เกินหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ออกใบรับรองแพทย์
ทำใบขับขี่บิ๊กไบค์ 2564 ต้องอบรมและผ่านการทดสอบ
นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการขอใบขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือใบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้รถบิ๊กไบค์ หรือรถจักรยานยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ขึ้นไป หรือมีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่สี่ 400 ลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไป ต้องมีหลักฐานผ่านการอบรมและทดสอบการขับขี่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่มีประกาศกำหนด ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับเมื่อกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ โดยเบื้องต้นมีการกำหนดหัวข้อหลักสูตรการอบรมและทดสอบ ประกอบด้วย
- การอบรมภาคทฤษฎีที่เกี่ยวกับผู้ขับขี่ ยานพาหนะ สภาพแวดล้อม เป็นต้น
- การฝึกอบรมภาคปฏิบัติ เป็นการฝึกขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์อย่างปลอดภัย
- การทดสอบขับรถ
ทั้งนี้เพื่อคัดกรองให้การออกใบขับขี่มีความเหมาะสมกับประเภทของยานพาหนะ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ขับรถ และได้มาตรฐานของการออกใบอนุญาตขับรถ นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นโดยเฉพาะผู้ขับขี่รถบิ๊กไบค์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องใช้ทักษะการขับรถสูงกว่าปกติ จึงถือเป็นการสร้างความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่และประชาชนผู้ใช้ถนนไม่ให้เกิดการบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน
ข้อมูลจาก : ratchakitcha.soc.go.th, dlt.go.th
สำหรับการใช้ใบรับรองแพทย์ในการทำใบขับขี่ และการต่อใบขับขี่ จะเริ่มมีการบังคับใช้ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป แต่อย่างไรก็ตามผู้ขับขี่ควรเคารพกฎจราจร และขับขี่อย่างปลอดภัย ไม่ประมาท และสามารถเพิ่มความอุ่นใจได้โดยการทำประกันรถยนต์ เพียง คลิกที่นี่ เพื่อซื้อประกันรถยนต์หรือเปรียบเทียบประกันรถยนต์กับเว็บไซต์มาสิได้ง่ายๆ
สนใจสมัครประกันรถยนต์
และหากไม่อยากพลาดข่าวสารจากมาสิ อย่าลืมแอดไลน์มาเป็นเพื่อนกับเราที่ @masii (มี @ ด้วยนะ) เพื่อติดตามข่าวสารและบทความดีๆ เกี่ยวกับ ประกันรถยนต์ ประกันมอเตอร์ไซค์ ประกันภัยโดรน ประกันเดินทาง ประกันสุขภาพ รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสด และบัตรเครดิตจากสถาบันการเงินชั้นนำได้เลยค่ะ