สำหรับนักลงทุน ผลตอบแทนกับความเสี่ยงเป็นของคู่กัน ถ้าเลือกสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงน้อย ผลตอบแทนก็จะน้อยตามไปด้วย แต่ถ้าเลือกสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงมาก แม้จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนมาก แต่ก็อาจสูญเสียการลงทุนได้เช่นกัน ซึ่งความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของนักลงทุนแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ดังนั้นเพื่อให้การลงทุนมีความเสี่ยงในระดับที่พอดี และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า นักลงทุนจึงมักกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลายๆ ประเภท เพื่อให้อัตราความเสี่ยงและผลตอบแทนสมดุลกัน เพื่อแบ่งปันวิธีการกับชาว Masii ที่กำลังมองหาการลงทุน ลองอ่านที่เพียร์ พาวเวอร์ อธิบายง่ายๆ ได้เลย
ลงทุนอย่างไรจึงกระจายความเสี่ยงได้ดีที่สุด
ความเสี่ยงในการลงทุน
ความเสี่ยงทางการลงทุนคือสิ่งที่นักลงทุนจะใช้ในการพิจารณาเพื่อประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเอง เพื่อให้จัดการกระจายความเสี่ยงได้อย่างสมดุล ซึ่งมีทั้งหมด 5 ความเสี่ยง
- ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ คือการลงทุนในลักษณะการเป็นเจ้าหนี้แล้วไม่ได้รับการชำระคืนตามข้อตกลง
- ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง คือการลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ในระยะเวลา 6 เดือน
- ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย คือการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยไม่คุ้มค่าหรือน้อยกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น
- ความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อ คือโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจนมากกว่าอัตราผลตอบแทนที่ควรได้รับในช่วงเวลาเดียวกัน
- ความเสี่ยงด้านการลงทุนต่อ คือสละหรือเลิกถือสินทรัพย์นั้นไปแล้วไปลงทุนใหม่แต่ได้ผลตอบแทนน้อยกว่าเดิม
ซึ่งสินทรัพย์แต่ละประเภทจะมีความเสี่ยงในด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายด้านในเวลาเดียวกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสินทรัพย์ประเภทนั้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้แบกรับความเสี่ยงของแต่ละสินทรัพย์ในคราวเดียว นักลงทุนจึงต้องเข้าใจหลักการกระจายความเสี่ยงด้วย
การกระจายความเสี่ยง (Diversification) คืออะไร
เชื่อว่านักลงทุนแทบทุกคนต้องเคยได้ยินหลักการลงทุนแบบไข่ 10 ฟอง ที่บอกว่าไข่ 10 ฟอง อยู่ในตะกร้าเดียวกัน ตะกร้าหล่นไป ไข่แตกไป 10 ใบในทีเดียว แต่ไข่ 10 ฟอง วางในตะกร้า 10 ใบ ตะกร้าแตก 1 ใบ เหลือไข่อีก 9 ฟอง ถ้าอ่านแล้วงง ให้ตั้งสติใหม่ และคิดว่าไข่คือสินทรัพย์ประเภทต่างๆ กัน เช่น การฝากประจำ หุ้น ตราสารหนี้ สินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ ซึ่งตะกร้าคือพอร์ตโฟลิโอของนักลงทุนแต่ละคน ถ้าเลือกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งเพียงชนิดเดียว ก็จะรับความเสี่ยงเฉพาะของสินทรัพย์นั้นๆ ซึ่งถ้าตลาดของสินทรัพย์ชนิดนั้นกำลังแย่ พอร์ตโฟลิโอทั้งพอร์ตก็จะให้ผลตอบแทนได้ไม่ตรงตามต้องการ
การเลือกลงทุนโดยกระจายความเสี่ยงให้ในพอร์ตเดียวมีสินทรัพย์หลายๆ ประเภท จึงจะช่วยเฉลี่ยความเสี่ยงในตลาดของสินทรัพย์ที่หลากหลายให้ได้ผลตอบแทนที่รับได้สำหรับทั้งพอร์ต เพราะมีทฤษฎีว่า ไม่มีทางที่ตลาดการลงทุนจะแย่พร้อมกันทุกประเภทสินทรัพย์ในคราวเดียว
กลยุทธ์ที่มักใช้สำหรับการกระจายความเสี่ยง
กลยุทธ์ที่มักใช้ในการกระจายความเสี่ยงมีด้วยกันหลายวิธี แต่หลักการร่วมกันคือเลือกสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่างกันมาไว้ในพอร์ตเดียวกัน อาจเลือกใน 2 ระดับคือ กระจายความเสี่ยงข้ามสินทรัพย์ กับการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน
กระจายความเสี่ยงข้ามสินทรัพย์ คือเลือกสินทรัพย์ที่มีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันให้อยู่ในพอร์ตเดียวกัน เช่นในพอร์ตจะมีการลงทุนในหุ้น ซึ่งปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของหุ้นคือการดำเนินการของบริษัท ตลาด สถานการณ์ภายในประเทศ มารวมกับสินทรัพย์ประเภทผลตอบแทนคงที่เช่นการฝากประจำ ที่ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อ หรือการลงทุนในตราสารหนี้ที่ขยับผลตอบแทนมากกว่ากการฝากประจำขึ้นมา แต่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ตามศักยภาพของผู้ถือหุ้น ก็จะเสี่ยงต่อการรเบี้ยวหนี้ได้
กระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน แม้สินทรัพย์เพื่อการลงทุนประเภทเดียวกันจะมีโอกาสมีความเสี่ยงเหมือนกัน แต่ศักยภาพของสินทรัพย์แต่ละตัวในประเภทเดียวกันก็ไม่เท่ากัน ตัวอย่างที่ช่วยให้เห็นภาพคือ ถ้าลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยเช่า ทำเลติดรถไฟฟ้ากับทำเลชานเมืองก็ทำกำไรไม่เท่ากัน และมีโอกาสไม่มีผู้เช่าไม่เท่ากัน นักลงทุนจึงเลือกทำเลในการลงทุนให้ต่างกันไม่กระจุกตัวทำเลใดทำเลหนึ่ง เป็นต้น
การกระจายความเสี่ยงทำได้หลายวิธี บางคนอาจเลือกสัดส่วนระหว่างหุ้นกับสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ในอัตราที่เหมาะกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตัวเอง ในขณะที่บางคนเลือกลงทุนในลักษณะที่เน้นความปลอดภัย หรือเน้นมูลค่าที่ค่อยๆ เพิ่มพูนตามกาลเวลาของมัน ซึ่งนักลงทุนเลือกได้ว่าต้องการให้พอร์ตของเราเติบโตไปในทิศทางไหนดี